คำถามเกี่ยวกับทะเบียนนิสิต
นิสิตไม่ได้ลงทะบียนเรียนในเวลาที่กำหนด
นิสิตสามารถลงทะเบียนล่าช้าได้อีก 2 สัปดาห์นับจากวันเปิดภาคเรียน แต่มีค่าปรับวันละ 25 บาท ตามประกาศฯ
สามารถดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายใน 2 สัปดาห์จากวันเปิดภาคเรียน เมื่อนิสิตลงทะเบียนเพิ่ม – ถอนรายวิชาจนพอใจแล้วให้พิมพ์ใบแจ้งยอดชำระเงินไปชำระเงินตาม – วัน เวลาที่กำหนด (ประมาณ 1 สัปดาห์)
นิสิตจะต้องทำคำร้องขอคืนสภาพและลงทะเบียนเรียนล่าช้าภายใน 5 สัปดาห์ นับจากวันพ้นกำหนดการชำระเงิน โดยใช้เอกสารคำร้อง NU7 พร้อมชำระค่าปรับตามประกาศของมหาวิทยาลัยในการขอลงทะเบียนล่าช้าที่กองคลัง
ลงทะเบียนไม่ได้เพราะต้องการลงมากกว่าเกณฑ์ที่ข้อบังคับกำหนด
ต้องรีบดำเนินการเขียนคำร้อง NU 18 ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดี ตามลำดับ โดยให้นิสิตระบุหน่วยกิตรวมที่ขอเพิ่มรวมเป็นกี่หน่วยกิต พร้อมเหตุผล เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ
การขอเพิ่มจำนวนผู้เรียนในรายวิชาที่ต้องการลงทะเบียน
ให้นิสิตดำเนินการยื่นคำร้อง NU 6 ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดีต้นสังกัด (ให้ความเห็นและลงนาม) หลังจากนั้นเสนอต่ออาจารย์ผู้สอน ภาควิชาและต้นสังกัดรายวิชา (ให้ความเห็นและลงนาม) แล้วจัดส่ง NU 6 ที่คณะต้นสังกัดรายวิชา เพื่อให้คณะสำรองที่นั่งในรายวิชาในระบบจัดตารางเรียนต่อไป
หมายเหตุ กรณีอยู่ในช่วงการลงทะเบียน เพิ่ม-ถอน รายวิชา ให้นิสิตดำเนินการเพิ่มรายวิชาบนระบบทะเบียนออนไลน์ แต่หากพ้นช่วงการลงทะเบียนเรียน เพิ่ม-ถอนรายวิชาแล้ว ให้นิสิตยื่นคำร้อง NU 8 พร้อมแนบคำร้อง NU 6 เพื่อขอลงทะเบียนเรียนเพิ่มโดยมีค่าปรับเป็นรายสัปดาห์
* ทั้งนี้ ยกเว้นรายวิชาศึกษาทั่วไปเนื่องจากการสำรองจำนวนผู้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป จะสำรองจำนวนตามแผนการเรียนตามแผนการศึกษาของแต่ละหลักสูตร *
การลงทะเบียนเรียนซ้ำ
นิสิตต้องติดต่อผู้สอน โดยใช้คำร้อง NU 6 เพื่อให้ผู้สอนอนุญาตและเพิ่มจำนวนนิสิตในหมู่เรียนหรือรหัสหลักสูตรของนิสิต โดยยื่น NU 6 ที่คณะต้นสังกัดรายวิชา เพื่อให้คณะสำรองที่นั่งรายวิชาในระบบจัดตารางเรียน จากนั้น นิสิตดำเนินการลงทะเบียนผ่านระบบทะเบียนออนไลน์ต่อไป
การลงทะเบียนเรียนผิดเงื่อนไข
อาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตควรศึกษาหลักสูตรรายวิชา ในกรณีที่รายวิชานั้น ๆ กำหนดให้มีวิชาบังคับก่อนนิสิตต้องเรียนและต้องสอบผ่านได้ระดับขั้น D ขึ้นไปจึงสามารถเรียนวิชาต่อเนื่องได้
นิสิตที่ย้ายคณะ ย้ายสาขาวิชาเอก หรือนิสิตที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนรายวิชา, นิสิตที่ตกแผน ไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้
แนวทางแก้ไข
– นิสิตที่ต้องการย้ายคณะและสาขาวิชา ควรจะดำเนินการยื่นคำร้องให้เสร็จสิ้นก่อนวันลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรกำหนดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อจักได้มีเวลาในการวางแผนการเรียน การลงทะเบียนและติดต่อผู้สอนได้ทันการ
– นิสิตต้องศึกษาแผนการเรียน หลักสูตรของตนเองจากคู่มือนิสิต ตรวจสอบรายวิชาที่เปิดสอนที่ระบบทะเบียนออนไลน์ www.reg.nu.ac.th พร้อมทั้งตรวจสอบว่ารายวิชาหรือหมู่เรียนนั้นเปิดไว้ให้กับนิสิตคณะใดหรือหลักสูตรใด
– หากมีรายวิชาที่เปิดสอนในระบบทะเบียนออนไลน์ www.reg .nu.ac.th แต่ไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้ เนื่องจากไม่ได้สำรองให้หลักสูตรของนิสิต ให้นิสิตดำเนินการยื่นคำร้อง NU 6 ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดีต้นสังกัด (ให้ความเห็นและลงนาม) หลังจากนั้นเสนอต่ออาจารย์ผู้สอน ภาควิชาและต้นสังกัดรายวิชา (ให้ความเห็นและลงนาม) แล้วจัดส่ง NU 6 ที่คณะต้นสังกัดรายวิชา เพื่อให้คณะสำรองที่นั่งในรายวิชาในระบบจัดตารางเรียนต่อไป
หมายเหตุ กรณีอยู่ในช่วงการลงทะเบียน เพิ่ม-ถอน รายวิชา ให้นิสิตดำเนินการเพิ่มรายวิชาบนระบบทะเบียนออนไลน์ แต่หากพ้นช่วงการลงทะเบียนเรียน เพิ่ม-ถอนรายวิชาแล้ว ให้นิสิตยื่นคำร้อง NU 8 พร้อมแนบคำร้อง NU 6 เพื่อขอลงทะเบียนเรียนเพิ่มโดยมีค่าปรับเป็นรายสัปดาห์
– นิสิตควรดำเนินการติดต่อคณะต้นสังกัดรายวิชาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อดำเนินการขอเปิดรายวิชาหรือขอเปิดหมู่เรียนเพิ่มหรือขอเปลี่ยนแปลงรหัสหมู่เรียนหรือขอเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้เรียนก่อนวันลงทะเบียน เพื่อจักได้ลงทะเบียนเรียนในเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ทัน
นิสิตไม่รู้ว่าผลการเรียนพ้นสภาพเป็นนิสิต ตามข้อบังคับ
มหาวิทยาลัยจะจำแนกสภาพนิสิต เมื่อสิ้นสุดทุกภาคการศึกษา สำหรับผลการเรียนภาคฤดูร้อนจะนำไปรวมกับผลการเรียนในภาคการศึกษาต่อไป ที่นิสิตลงทะเบียนเรียนยกเว้นนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในภาคฤดูร้อน นิสิตปกติ ต้องมีผลการเรียน 2.00 ขึ้นไป นิสิตรอพินิจ คือนิสิตที่มีผลการเรียนสะสมต่ำกว่า 2.00 การคิดสภาพนิสิตจากผลการเรียน
– ถ้านิสิตเรียนมาแล้วครบสองภาคการศึกษาปกติแล้วผลการเรียนไม่ถึง 1.50 พ้นสภาพนิสิต
– ถ้านิสิตเรียนมาแล้วครบสี่ภาคการศึกษาปกติ ผลการเรียนสะสมไม่ถึง 1.75 พ้นสภาพนิสิต
– และถ้านิสิตที่เรียนมาแล้วสี่ภาคการศึกษาปกติขึ้นไป ผลการเรียนไม่ถึง 1.75 พ้นสภาพนิสิต
แนวทางแก้ไข
– นิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถใช้บริการระบบทะเบียนออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเรียกใช้ข้อมูลของงานทะเบียนนิสิตและประมวลผล อาจารย์ที่ปรึกษาสามารถเรียกข้อมูลนิสิต เพื่อตรวจสอบการลงทะเบียนเรียน ผลการเรียนตรวจสอบจบ ข้อมูลประวัตินิสิต สามารถควบคุมการลงทะเบียนและส่งข้อความถึงนิสิตได้
– กรณีตรวจสอบผลการเรียน ทั้งนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถดูผลการเรียนได้ มีทั้งข้อมูลรายภาคการศึกษา หรือทั้งหมดตั้งแต่เข้าศึกษาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถเลือกใช้โปรแกรมทดลอบเกรด สำหรับรายวิชาที่กำลังศึกษาอยู่ เพื่อทดลองคำนวณ GPA เพื่อเป็นการวางแผนการเรียนต่อไป
นิสิตไม่รู้ว่าได้รับผลการเรียนอักษร I,P,U ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ยื่นขอสำเร็จการศึกษา และต้องยื่นขอสำเร็จการศึกษาใหม่ ตามข้อบังคับ
นิสิตที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษา ต้องยื่นแบบขอสำเร็จการศึกษาภายใน 4 สัปดาห์นับจากวันเปิดภาคเรียน ปัญหาคือ นิสิตที่เคยยื่นแล้วแต่ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้โดยมีสาเหตุมาจากได้รับอักษร I,P หรือ U หรือผลการเรียนติดอักษร I,P หรือ U หรือผลการเรียนไม่ถึง 2.00 ในภาคเรียนถัดไปที่ต้องแก้ไขผลการเรียน I,P หรือ U หรือ ลงทะเบียนรายวิชานั้น นิสิตไม่ได้ยื่นขอสำเร็จการศึกษาใหม่ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้
แนวทางแก้ไข
ในภาคเรียนใดที่นิสิตคาดว่าจะสำเร็จการศึกษา ต้องยื่นขอสำเร็จการศึกษาในเวลาที่กำหนดถ้าไม่สำเร็จการศึกษาก็ต้องยื่นใหม่ซ้ำอีก จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาในกรณีที่แก้ไขอักษร I,P นิสิตต้องรีบดำเนินการติดต่ออาจารย์ผู้สอนเพื่อขอแก้ไขอักษร I,P ทั้งนี้การยื่นขอแก้ไขอักษร I,P และยื่นขอสำเร็จการศึกษาใหม่ นิสิตจะต้องมีสถานภาพการเป็นนิสิต ดังนั้นนิสิตจะต้องลงทะเบียนรักษาสภาพนิสิต ตามระเบียบด้วย
ชื่อสกุลไม่ถูกต้อง
แนวทางการแก้ไข
นิสิตควรเข้าไปตรวจสอบประวัตินิสิต ใน www.reg.nu.ac.th ว่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง ให้รีบแจ้งงานทะเบียนนิสิตฯ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อเอกสารสำคัญทางการศึกษาที่ออกให้กับนิสิตเวลาที่สำเร็จการศึกษาจักได้ถูกต้อง
รายวิชาหมวดวิชาเลือกเสรี
แนวทางแก้ไข
หมวดวิชาเลือกเสรี เป็นรายวิชาที่เปิดโอกาสให้นิสิตเลือกเรียนวิชาใด ๆ ในหลักสูตรปริญญาตรี ยกเว้นรายวิชาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้นิสิตได้ขยายความรู้ทางวิชาการให้กว้างขวางออกไป เพื่อเป็นการส่งเสริมความถนัด ความสนใจของนิสิตมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เรียนไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
นิสิตไม่ลงทะเบียนเรียนตามที่แผนการเรียนในหลักสูตรกำหนด
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในแผนการเรียนตามหลักสูตรของนิสิตส่วนใหญ่กำหนดให้นิสิตต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปและพื้นฐานเฉพาะด้านให้เสร็จสิ้นภายในชั้นปีที่ 2 แต่นิสิตบางคนมีความสามารถเฉพาะทางในสาขาวิชาของตน ต้องการที่จะเรียนวิชาเฉพาะสาขาก่อน โดยไม่สนใจวิชาพื้นฐานหรือสนใจแผนการเรียนที่กำหนดในหลักสูตร พยายามที่จะลงทะเบียนเรียนในรายวิชาที่ตนเองชอบหรือต้องการจะเรียนก่อน ส่งผลให้ต้องตกแผนการเรียน สร้างความยุ่งยากในการจัดตารางเรียน โดยเฉพาะวิชาเฉพาะสาขา หากคณะใดมีนิสิตที่ตกแผนการเรียนจำนวนมาก การบริหารจัดการรายวิชาหรือการจัดตารางเรียนจะประสบกับปัญหายุ่งยาก บางครั้งต้องเปิดหมู่เรียนใหม่ เพื่อนิสิตที่ตกแผนการเรียนโดยเฉพาะ นับว่าเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการอย่างยิ่ง
แนวทางแก้ไข
สำหรับปัญหานิสิตไม่ลงทะเบียนเรียนตามที่แผนการเรียนในหลักสูตรกำหนด จากการสังเกตจะพบว่ามีเพียงบางคณะเท่านั้นที่เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น หากคณะต้นสังกัดต้องการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจจะกระทำได้โดยไม่ยาก เพียงแต่ต้องติดตามการลงทะเบียนของนิสิตตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 อย่างใกล้ชิด พบปะนิสิตเพื่อให้คำปรึกษา และแนะนำในด้านการลงทะเบียนและการเรียนของนิสิตให้บ่อยครั้ง จะช่วยให้คณะบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ดังเช่นบางคณะที่มีการบริหารจัดการในลักษณะดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ มีการพบนิสิต แนะนำนิสิต ให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลาพบว่าคณะนั้น ๆ ไม่ประสบกับปัญหาการตกแผนการเรียนของนิสิต หรือหากมีก็จะพบว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคณะที่ปล่อยให้นิสิตลงทะเบียนตามความต้องการของนิสิต โดยไม่คำนึงถึงแผนการเรียนและหลักสูตร